เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมาได้มีโอกาสไปทำบุญ , ไหว้พระและขอพรตามแบบฉบับจีน “ตามรอยมังกร ขอพรแห่งอิทธิฤทธิ์” เรื่องราวความเชื่อที่ศักดิ์สิทธิ์ ระหว่าง วัดกับมังกร ที่กลายเป็นตำนานเล่าขานสืบต่อกันมาเนิ่นนาน โดยหัวมังกรอยู่ที่ “วัดเล่งเน่งยี่” ท้องมังกรอยู่ที่ “วัดเล่งฮกยี่” และหางมังกรอยู่ที่ “วัดเล่งฮัวยี่” หากได้กราบไหว้นมัสการอธิฐานขอพรครบทั้งสามห่ง จะได้รับพลังจากมังกรเทพแห่งอิทธิฤทธิ์ เพิ่มสิริมงคลให้แก่ชีวิต ค้าขายเจริญรุ่งเรือง เสริมบารมี เสริมดวงชะตา

รู้หรือไม่ว่า..ประเทศไทยของเราก็เป็นดินแดนอุดมมังกรเหมือนกัน มังกรที่ว่านี้ไม่ใช่มังกรที่พ่นไฟฟู่ๆอย่างในหนังฝรั่งเขา หากแต่เป็น”มังกร”สัตว์ศักดิ์สิทธิ์ของคนจีน ซึ่งชาวจีนจึงเชื่อกันว่า “มังกร” คือสัตว์ที่ทรงพลังและศักดิ์สิทธิ์แห่งฟ้าและดิน มังกรเป็นตัวแทนของพลังที่ยิ่งใหญ่แห่งธรรมชาติ พลังอำนาจสูงสุดของโลก

บางครั้งเราอาจพบมังกรจีนในรูปสัญลักษณ์ของเทพเจ้าแห่งการปกป้องและคุ้มครอง นำมาซึ่งอายุยืนยาว ความเจริญรุ่งเรือง โชคลาภวาสนา มังกรจีนได้กลายมาเป็นสัญลักษณ์ของความยิ่งใหญ่ ความดีงาม และอำนาจบารมี จนถือได้ว่า มังกร เป็นสัญลักษณ์แทนความโชคดีสูงสุดก็ว่าได้

วัดเล่งเน่ยยี่
วัดเล่งเน่ยยี่ เชื่อกันว่าเป็นวัดส่วนหัวของมังกร

ดังนั้นทริปนี้ การเดินทาง”ตามรอยมังกร” จึงต้องไปถึง 3 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพฯ-ฉะเชิงเทรา-จันทบุรี โดยมีวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒินำเที่ยวชม ซึ่งการตามรอยมังกรครั้งนี้เราจะตามกันให้ครบทั้งตัวตั้งแต่หัวมังกร ท้องมังกร ไปจนถึงหางมังกรเลยทีเดียว

ที่แรกต้นทางอยู่ที่กรุงเทพฯ ในย่านเยาวราชที่เชื่อกันว่าเป็นถนนสายมังกรและเป็นที่ตั้งของวัดมังกรกมลาวาส หรือ”วัดเล่งเน่ยยี่” ซึ่งในสมัยรัชกาลที่ 5 ได้ทรงโปรดเกล้าฯให้เลือกชัยภูมิที่ตั้งวัดโดยให้เจ้ากรมท่าซ้ายร่วมกับพุทะสาสนิกชนชาวจีนก่อสร้างขึ้นในปี พ.ศ.2414 ใช้เวลาก่อสร้างถึง 8 ปีจึงแล้วเสร็จและให้ชื่อว่า “วัดเล่งเน่ยยี่” อันมีความหมายคือ เล่ง แปลว่ามังกร เน่ย แปลว่าดอกบัว ยี่แปลว่าวัด ต่อมาภายหลังรัชกาลที่ 5 พระราชทานนามใหม่ว่า “วัดมังกรกมลาวาส”

สถาปัตยกรรมของวัดแห่งนี้ก็โดดเด่นด้วยการวางผังแบบวังหลวงแต้จิ๋วโบราณ คือ มีวิหารท้าวจตุโลกบาลเป็นวิหารแรก ตรงกลางเป็นพระอุโบสถ ข้างหลังพระอุโบสถเป็นวิหารเทพเจ้า การสร้างใช้ไม้และอิฐเป็นวัสดุสำคัญ โดยก่อนจะเข้าสู่วิหารท้าวจตุโลกบาลหน้าประตูทางเข้าทั้งสองด้านมีป้ายคำโคลงคู่มีความหมายว่า ประทุมประทีปส่องสว่างกลางเวหา และ มังกรเหินสู่สวรรค์ ณ ถิ่นนี้ ที่วัดแห่งนี้จึงได้ชื่อว่าเปรียบดั่ง “ส่วนหัวของมังกร”

เมื่อเข้าไปภายในวิหารท้าวจตุโลกบาล พวกเราได้พบกับเทพเจ้าที่ปกปักษ์รักษาคุ้มครองทิศต่างๆ ทั้ง 4 ทิศ เป็นรูปหล่อปูนเขียนสีแต่งกายในชุดนักรบจีนถืออาวุธและสิ่งของต่างๆ กัน เช่น พิณ ดาบ ร่ม เจดีย์

ส่วนหลังคาวิหารท้าวจตุโลกบาล แสดงโครงสร้างคานขื่อตามแบบแต้จิ๋วอย่างสวยงาม หลังคามุงด้วยกระเบื้องดินเผาแบบจีนโบราณ มีการประดับตกแต่งอาคารด้วยกระเบื้องตัดเป็นชิ้นเล็กๆ ประกอบด้วยลวดลายสิริมงคลตามความเชื่อจีน มีการวาดลวดลายและแกะสลักลวดลาย ปิดทองอย่างสวยงาม มีการใช้โมเสกติดผนังทั้งหมด จัดว่าเป็นสถาปัตยกรรมจีนโบราณที่มีความสมบูรณ์มากแห่งหนึ่งเลยทีเดียว

ถัดจากวิหารท้าวจตุโลกบาล คือ อุโบสถ เป็นที่ประดิษฐานขององค์พระประธาน 3 องค์ด้วยกัน คือ พระศากยมุนีพุทธเจ้า คือ พระพุทธเจ้าในปัจจุบันกาล (เจ้าชายสิทธัตถะ), พระอมิตาภพุทธเจ้า เชื่อว่าเป็นอดีตพระพุทธเจ้าอยู่ในดินแดนพุทธเกษตรที่เรียกว่าแดนสุขาวดี, พระไภษัชยคุรุไวฑูรย์พุทธเจ้า เป็นพระพุทธเจ้าในอดีตเช่นกัน เชื่อกันว่าท่านอยู่ในดินแดนพุทธเกษตรทางฝั่งทิศตะวันออก ตรงข้ามกับแดนสุขาวดี โดยพระพุทธเจ้าทั้งสามพระองค์นี้ เปรียบเหมือนไตรรัตน์ของฝ่ายมหายาน ด้านหลังอุโบสถมีวิหารบูรพาจารย์และเทพเจ้าต่างๆของจีน

เมื่อได้ฟังประวัติความสำคัญของวัดเล่งเน่ยยี่แล้ว พวกเราก็จัดแจงจุดธูปของพรเพิ่มความเป็นสิริมงคลกันยกใหญ่ โดยเฉพาะในเรื่องของการค้าขาย เขาเชื่อกันว่าจะช่วยให้การค้าขายเจริญรุ่งเรือง

 

หลังจากที่พวกเราได้เจอะเจอกับหัวมังกรแล้ว ก็เดินทางไปตามรอยมังกรกันต่อที่ส่วนท้องของมังกร ซึ่งเชื่อกันว่าอยู่ที่วัดจีนประชาสโมสร หรือ “วัดเล่งฮกยี่” จังหวัดฉะเชิงเทรา นั่นเองโดยวัดนี้ถือเป็นวัดจีนเพียงแห่งเดียวในฉะเชิงเทรา สำหรับแบบแปลนของวัดนี้จะเป็นแบบเดียวกับวัดเล่งเน่ยยี่ และได้ถูกวางตำแหน่งฮวงจุ้ยเป็น “ส่วนท้องของมังกร”

ตามรอยมังกร ขอพรแห่งอิทธิฤทธิ์

วัดเล่งฮกยี่ สร้างขึ้นราว พ.ศ.2449 ซึ่งคำว่า ฮก แปลว่าโชคลาภ วาสนา จึงมักมีคนเรียกวัดแห่งนี้ว่า วัดมังกรแห่งวาสนา ต่อมาเมื่อครั้งรัชกาลที่ 5 ได้เสด็จประพาสมณฑลปราจีนบุรี เพื่อทรงเปิดทางรถไฟสาย กรุงเทพฯ – ฉะเชิงเทรา ก็ได้พระราชดำเนินทรงเยี่ยมวัดเล่งฮกยี่แห่งนี้ และทรงมีจิตศรัทธาพระราชทานเงินเพื่อบำรุงวัด พร้อมทั้งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าพระราชทานชื่อให้ใหม่ว่า “วัดจีนประชาสโมสร”อันมีความหมายถึงว่า วัดแห่งนี้เป็นที่ชุมนุมของคนจีน

ความโดดเด่นของวัดแห่งนี้อยู่ที่พระประธาน คือ พระพุทธเจ้าทั้ง 3 พระองค์ เหมือนที่วัดส่วนหัวมังกร แต่พิเศษตรงที่พระประธานทั้ง 3 พระองค์นี้นำเข้ามาจากเมืองจีนและสร้างขึ้นจากกระดาษทั้งสิ้น หรือที่เรียกว่า “เปเปอร์มาเช่” แล้วปิดทอง ทำให้มีน้ำหนักเบา นอกจากนี้ยังมีรูปหล่อ 18 อรหันต์ ก็ยังทำด้วยกระดาษเช่นกัน และยังเก่าแก่ราว 200 ปีอีกด้วย

ภายในวัดยังมีรูปหล่อเทพเจ้าแห่งโชคลาภ หรือ ไฉ่เซ่งเอี้ย องค์ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ผู้ที่มากราบไหว้ที่วัดเล่งฮกยี่แห่งนี้ยังนิยมขอโชคลาภ โดยท่องบทสวดของท่าน 3 ครั้ง จากนั้นนำกระเป๋าเงินของเราไปไว้ที่ปากถุงเงินของท่าน ตบก้นถุงของท่าน 3 ครั้งหลังจากนั้นลูบจากก้นถุงขึ้นมายังปากถุง 3 ครั้ง เหมือนเป็นการนำโชคลาภใส่ลงกระเป๋าของเราเอง พร้อมทั้งหยิบเหรียญขวัญถุงมา 1 เหรียญ ก็เป็นอันเสร็จสิ้นการขอโชคลาภ

แต่ก่อนจะออกเดินทางตามรอยมังกรกันต่อ ก็ต้องตีระฆังใบยักษ์หล่อจากแต่จิ๋วหนักกว่า 1 ตัน 3 ครั้งก่อน ซึ่งรอบระฆังใบนี้มีอักษรมหาปรัชญาปารมิตาสูตร ถือกันว่าผู้ใดตีระฆังก็เหมือนกับการสวดมนต์บทนี้ ซึ่งจะได้บุญได้กุศลเป็นอย่างมาก

และด้วยความเชื่อที่ว่าวัดแห่งนี้เป็นดั่งส่วนท้องของมังกร ทำให้ผู้ที่มากราบไหว้บูชาจะได้รับพลังส่งผลถึงความอุดมสมบูรณ์ทั้งพืชพรรณธัญญาหาร เจริญรุ่งเรืองมาสู่ตัวเราด้วย ซึ่งก็แน่นอนว่าพวกเราจะต้องตั้งหน้าตั้งตากราบไหว้ขอพรกันอย่างแน่วแน่

 

เจริญในบุญกันแล้วก็เดินทางไปค้นหาส่วนสุดท้ายซึ่งก็คือ “ส่วนหางของมังกร” กันที่จังหวัดจันทบุรี พวกเรามุ่งหน้าสู่”วัดเล่งฮัวยี่” โดย ฮัว แปลว่าดอกไม้ วัดแห่งนี้จึงมีอีกชื่อหนึ่งว่า “วัดมังกรบุปผาราม” สร้างขึ้นในปี พ.ศ.2520 เมื่อก้าวย่างเข้าไปภายในจะเจอะเจอกับวิหารท้าวจตุโลกบาลเช่นเดียวกับวัดส่วนหัวและส่วนท้องมังกร

ตามรอยมังกร ขอพรแห่งอิทธิฤทธิ์

เมื่อผ่านวิหารท้าวจตุโลกบาลเข้ามา พวกเราเห็นอุโบสถสถาปัตยกรรมจีนหลังคาซ้อน 3 ชั้น ยอดเป็นรูปเจดีย์ ภายในเป็นที่ประดิษฐานพระประธานพุทธเจ้า 3 พระองค์สีทองอร่ามเช่นกับวัดทั้ง 2 ที่ผ่านมา พร้อมด้วยพระสาวกเบื้องซ้ายและขวา คือพระมหากัสสปะ และพระอานนท์

ด้านข้างประดิษฐานพระมัญชุศรีโพธิสัตว์ ผู้เป็นเลิศด้วยมหาปัญญาประทับบนหลังสิงโต อันหมายถึงพระพุทธเจ้าและพระโพธิสัตว์ทรงมีพระปัญญาคุณเลิศกว่าหมู่สรรพสัตว์ และพระสมันตภัทรโพธิสัตว์ ผู้เป็นเลิศด้วยมหาจริยาประทับบนหลังช้างเผือกหกงา หมายถึงบารมีหกที่พระพุทธเจ้าและพระโพธิสัตว์ทั้งหลายบำเพ็ญ

โดยรูปเคารพทั้งหลายปิดทองคำเปลวเหลืองอร่ามประดิษฐานภายในซุ้มแบบจีนบนฐานชุกชี ภายในมีลวดลายไม้แกะสลักปิดทองแบบศิลปะจีนอย่างสวยงาม ด้านบนยังมีรูปเคารพเทพเจ้าอีกหลายองค์ให้เคารพบูชาอีกด้วย พวกเราใช้เวลากราบไหว้ขอพรอยู่นาน ก่อนที่จะลาจากวัดส่วนหางของมังกรแห่งนี้

ตามรอยมังกร ขอพรแห่งอิทธิฤทธิ์

เป็นที่น่าสังเกตว่า วัดทั้งสามตำแหน่งของมังกรตัวยักษ์นี้ ได้พาดผ่านในดินแดนของความมั่งคั่ง อุดมสมบูรณ์ ทั้งเยาวราช ที่เป็นดินแดนแห่งการค้าขายอุดมด้วยเงินทองมากมาย เมืองแปดริ้วดินแดนอุดมสมบูรณ์ด้วยพืชพันธุ์ ธัญญาหาร และจังหวัดจันทบุรี เมืองพลอยที่ปลอดภัยที่สุดในโลก

ตามรอยมังกร ขอพรแห่งอิทธิฤทธิ์

เรื่องนี้ไม่ว่าใครจะเชื่อหรือไม่ก็ตาม แต่สิ่งที่เราได้จากการตามรอยมังกรก็คือ ความเพลิดเพลินและสุขใจ ซึ่งจะว่าไป”ความสุข”นี่แหละคือบุญอันสุดแสนประเสริฐของมนุษย์แล้ว

 

เส้นทาง”ตามรอยมังกร“เป็นส่วนหนึ่งของเส้นทาง “ตามรอยมังกร ขอพรพระเจ้าตาก” ในโครงการ “เที่ยวทั่วไทย สุขใจเสริมมงคล” ของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.)

“วัดมังกรกมลาวาส” หรือ “วัดเล่งเน่ยยี่” ตั้งอยู่ที่ ถ.เจริญกรุง เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กทม.

“วัดจีนประชาสโมสร” หรือ “วัดเล่งฮกยี่” ตั้งอยู่ที่ถ.ศุภกิจ ต.บ้านใหม่ อ.เมือง จ.ฉะเชิงเทรา

“วัดมังกรบุปผาราม” หรือ “วัดเล่งฮัวยี่” ตั้งอยู่ที่ ถ.สุขุมวิท ต.พลิ้ว อ.แหลมสิงห์ จ.จันทบุรี

 

 

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเรา บน Facebook..ได้ที่นี่เลย!!

คุณรู้สึกอย่างไรกับ "ตามรอยมังกร ขอพรแห่งอิทธิฤทธิ์"
Comment กันได้เลย ...
You can follow tung148, the author of this post, on Twitter and Facebook. If you'd like to contact him, Twitter is the most effective means of doing so.